5 อาชีพสุดฮิต ของเด็ก "รัฐศาสตร์"

25 พฤษภาคม 2021

1.เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล


เด็กจบใหม่จำนวนหนึ่งเลยมักจะทำงานในสายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เรียกสั้นๆ ว่า HR (Human Resource) ในองค์กรใหญ่ๆ ที่มีพนักงานเยอะๆที่จะต้องบริหาร และคอยดูแลพนักงานเหล่านี้ให้ดี


ฝ่าย HR มีหน้าที่จัดหาพนักงานที่มีคุณภาพให้กับองค์กร รวมถึงดูแลเรื่องผลประโยชน์ขององค์กร และของพนักงาน เช่น เงินเดือน สวัสดิการ การฝึกอบรม การจัดกิจกรรมต่างๆ ดูแลกฎระเบียบต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อสรรหาพนักงานที่ดีมีคุณภาพเข้ามาทำงานในองค์กร และดูแลพัฒนาพนักงานเดิมให้อยู่ต่อกับองค์กรไปนานๆ


หากเป็นองค์กรใหญ่ๆ ก็จะแยกหน้าที่อย่างชัดเจน เช่น HR Management คนนี้ดูแลเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการ, HR Recruitment คนนี้ดูแลเรื่องสรรหาและสัมภาษณ์พนักงานใหม่ และ HR Development ที่คอยดูแลเรื่องกิจกรรม หรือสื่อสารภายในองค์กร ซึ่งตัวงานมีหลากหลายมาก จึงทำให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่เด็กรัฐศาสตร์นิยมทำงานกันมากที่สุดอาชีพหนึ่ง


2.นักการทูต


อาชีพนักการทูต แน่นอนว่าเป็นอาชีพในฝันของหลายคน ในการเป็นตัวแทนประเทศที่มีหน้าที่เจรจาต่อรอง เพื่อให้ประเทศของเราได้รับผลประโยชน์ เป็นภาพลักษณ์งานที่ดูดีและดูมีเกียรติ ได้เดินทางไปต่างประเทศ และได้ใช้ภาษาต่างประเทศแทบจะตลอดเวลา


โดยการจะเข้าเป็นนักการทูตนั้น ต้องเรียนจบปริญญาตรี หลังจากนั้นจะมีการเปิดสอบเป็นรอบๆในแต่ละปี ทั้งหมด 3 อย่างที่ต้องผ่าน ก็คือ การสอบ กพ. ภาค ก (ความรู้ทั่วไป), ภาค ข (ความรู้ประจำตำแหน่ง) และ ภาค ค (เข้าค่ายร่วมกิจกรรม)


หากผ่านทั้ง 3 อย่างแล้ว ก็จะได้เข้ารับราชการเป็น "นักการทูต" และเมื่อทำงานที่ไทย(กระทรวงการต่างประเทศ) ครบ 4 ปี ก็จะได้ออกโพสต์หรือออกไปประจำที่ต่างประเทศตามที่ได้รับมอบหมาย


3.ปลัดอำเภอ และข้าราชการตามกรม กอง และกระทรวงต่างๆ


เด็กรัฐศาสตร์หลายๆคนเลย หลังเรียนจบแล้ว จะอ่านหนังสือเพื่อมุ่งสอบเข้ารับราชการเป็น "ปลัดอำเภอ" อันอันดับแรก ถือเป็นข้าราชการสังกัดกรมการปกครอง โดยจะให้เฉพาะคนมีวุฒิรัฐศาสตรบัณฑิต และนิติศาสตรบัณฑิตสอบได้เท่านั้น มีจำนวนหนึ่งที่ตั้งใจสอบเข้าเรียนใน คณะรัฐศาสตร์ เพื่อที่จะจบไปเป็น ปลัดอำเภอ และกลับไปดูแลปกครองอำเภอในจังหวัดที่บ้านเกิด หลังเรียนจบก็เลยสมัครสอบเพื่อตามฝันอย่างที่ตั้งใจเอาไว้


หรือ จะเลือกเข้ารับราชการตามกรม กอง และกระทรวงต่างๆ นอกจาก นักการทูต และ ปลัดอำเภอ ที่เป็นงานราชการที่เด็กรัฐศาสตร์นิยมแล้ว งานราชการยังมีอีกมากมายตามกรม กอง กระทรวงต่างๆ หลายตำแหน่งก็เปิดรับให้เด็กรัฐศาสตร์เข้าไปทำงานได้ เช่น สำนักนายรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กรมศุลกากร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมีเปิดรับสมัครอีกมากมาย


4.พนักงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานธนาคาร และบริษัทเอกชน


คณะรัฐศาสตร์ นั้นเป็นการเรียนการสอนที่เน้น เนื้อหาวิชาการ อาจไม่ใช่วิชาชีพ ที่เห็นภาพชัดแบบแพทย์ หรือวิศวะ ที่รู้เลยว่าจบไปจะทำงานอะไร ดังนั้นเมื่อเด็กรัฐศาสตร์เรียนจบไปแล้ว สามารถนำความรู้ต่างๆที่ได้เรียนในห้องเรียน มาประยุกต์ใช้ หรือ นำไปใช้ในการทำงานในแบบที่ชอบได้ ในตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารอื่นๆ อาทิเช่น พนักงานธนาคาร นักการตลาด การเงิน เลขานุการ นักวิจัย คอนเท้นท์ครีเอเตอร์ หรืองานด้าน PR ก็สามารถทำได้เช่นกัน


ถือว่าเป็นคณะที่มีความหลายหลายในการเลือกอาชีพเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาตัวเองให้เหมาะกับงานนั้นๆ ในด้านต่างๆ ให้เพียงพอที่จะใช้ประกอบอาชีพที่ตนเองต้องการ


5.นักการเมือง

ใครที่อยากเรียนคณะรัฐศาสตร์ใน สาขาวิชาการเมืองการปกครอง ในปัจจุบันก็มีอีกหลายๆคนที่อยากให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า จึงเลือกเรียนในสาขาวิชานี้ เพื่อที่จะไปพัฒนาในด้านต่างๆของประเทศ


ซึ่งเมื่อเรียนจบไปแล้วสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ได้แก่ นักการเมืองระดับท้องถิ่น เช่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ระดับประเทศ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการการเมือง เป็นต้น


อาชีพนักการเมืองนี้ จะเป็นอาชีพที่ได้รับเลือกจากการเลือกตั้ง และจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องต่อนโยบายสาธารณะ ดูแลเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนอยู่อย่างสบาย สงบสุข และมีความเท่าเทียมกัน

Google+
Line

บทความที่เกี่ยวข้อง

คอร์สเรียน